ข้อบังคับ EMDR Thailand
ข้อบังคับของสมาคมอีเอ็มดีอาร์
หมวดที่ 1 ความทั่วไป
ข้อ 1. สมาคมนี้มีชื่อว่า สมาคมอีเอ็มดีอาร์
ข้อ 2. เครื่องหมายของสมาคมมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมและมีข้อความว่าสมาคมอีเอ็มดีอาร์อยู่ตรงกลาง รูปเครื่องหมายสมาคมดังที่ปรากฏข้างล่าง
ข้อ 3. สำนักงานใหญ่ของสมาคมตั้งอยู่ ณ 1873 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อาคาร ภปร. ชั้น 12 ห้อง 1240 ถนนพระราม 4 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
ข้อ 4. วัตถุประสงค์ของสมาคมเพื่อ
4.1 เพื่อจัดการประชุมวิชาการประจำปีแก่ผู้บำบัด ผู้มีบาดแผลทางจิตใจและผู้สนใจที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
4.2 เพื่อกำหนดมาตรฐาน ประสานงานการฝึกอบรมและการพัฒนาการบำบัดแนว EMDR ในประเทศไทยและในประเทศเพื่อนบ้าน
- เพื่อประสานงานกับสมาชิกและขับเคลื่อนการให้บริการแก่ผู้ประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญในเหตุการณ์ภัยพิบัติทั้งจากธรรมชาติหรือจากมนุษย์ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค หรือมีข้อร้องขอจากหน่วยงานต่างประเทศจัดการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างสมาชิกผู้บำบัดในแนวทาง EMDR ในประเทศไทยเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
4.4 ดำเนินการจัดหาและบริหารจัดการทรัพยากร รวมทั้งการรับบริจาคจากหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนในประเทศและต่างประเทศ เพื่อการศึกษาวิจัย การฝึกอบรม การให้บริการและการดำเนินกิจกรรมต่างๆของสมาคม
4.5 เพื่อประสานงานและริเริ่มจัดทำ Memorandum of Understanding ( MOU ) ระหว่างผู้จัดทำนโยบาย องค์กรของรัฐ เอกชน และองค์กรทางสุขภาพจิต เพื่อจัดให้มีบริการให้คำปรึกษาในการฝึกอบรม การวิจัย และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ
4.6 เพื่อประสานงานระหว่างสมาคม กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกประเทศ
4.7 ส่งเสริมและประสานความสามัคคีในหมู่สมาชิก
4.8 ส่งเสริมและสนับสนุนความเจริญของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
4.9 ส่งเสริมการศึกษา
4.10 บำเพ็ญสาธารณะประโยชน์
4.11 ไม่ดำเนินการใดๆ อันเป็นการแทรกแซงการบริหารงานของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
4.12 ไม่ดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวกับการเมือง
4.13 ไม่มีนโยบายหรือเจตนาจะตั้งโต๊ะบิลเลียดเพื่อเล่นการพนัน พนันเอาทรัพย์สินแต่อย่างใด
- ไม่มีเจตนาหาผลกำไรแบ่งปันกันแต่อย่างใด
หมวดที่ 2 สมาชิก
ข้อ 5. สมาชิกของสมาคมมี 2 ประเภท คือ
- สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลผู้รับผ่านการอบรมการบำบัดแนวอีเอ็มดีอาร์จากสถาบันที่ได้รับอนุญาตให้ออกใบรับรองได้ทั้งในและต่างประเทศ
- สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียติ หรือทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการะคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม
ข้อ 6. สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
- ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
- ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายหรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถหรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาทหรือลหุโทษ การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดในกรณีดังกล่าว จะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น
ข้อ 7. ค่าลงทะเบียนและบำรุงสมาคม
7.1 สมาชิกสามัญจะต้องเสียค่าลงทะเบียนครั้งแรก เป็นค่าบำรุงตลอดชีพคนละ 2,000.- บาท (สองพันบาทถ้วน)
สมาชิกกิตติมศักดิ์มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมแต่อย่างใดทั้งสิ้น
ข้อ 8. การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขานุการ หรือนายทะเบียน
ข้อ 9. สถานภาพการเป็นสมาชิกจะสมบูรณ์เมื่อได้มีการชำระเงินค่าบำรุงครบถ้วนแล้ว
ข้อ 10. สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมได้มาถึงยังสมาคม
ข้อ 11. สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้
- ตาย
- ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการและคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติและสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อย
- ขาดคุณสมบัติสมาชิก
- ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมหรือคณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียน เพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤติตนนำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม
ข้อ 12. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
- มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน
- มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ
- มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
- มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม
- สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคม และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมได้คนละ 1 คะแนนเสียง
- มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม
- มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 5 ของสมาชิกสามัญทั้งหมดร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่สามัญได้ (ปพพ. มาตรา 94 )
- มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด
- มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
- มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของสมาคม
- มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
- มีหน้าที่ช่วยเหลือเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
หมวดที่ 3 การดำเนินกิจการสมาคม
ข้อ 13. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม มีจำนวนอย่างน้อย 7 คน อย่างมากไม่เกิน 10 คน คณะกรรมการนี้ได้มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม และให้ผู้ที่ได้รับ เลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งกันเองเป็นนายกสมาคม 1 คน สำหรับตำแหน่งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ให้นายกเป็นผู้แต่งตั้งผู้ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ของสมาคมตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งตำแหน่งของกรรมการสมาคมมีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขปดังต่อไปนี้
13.1 นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคม เป็นผู้แทนสมาคมในการติดต่อกับบุคคลภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการและการประชุมใหญ่ของสมาคม
13.2 อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการสมาคม ปฏิบัติตามที่นายกสมาคมได้มอบหมายและทำหน้าที่ แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคมให้อุปนายกตามลำดับโดยตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน
13.3 เลขานุการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคม และปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
13.4 เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคมเป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคมและเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของสมาคมไว้เพื่อการตรวจสอบ
13.5 ปฏิคม มีหน้าที่ในการต้อนรับแขกของสมาคมเป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคมและจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
13.6 นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคมประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก
13.7 ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมในสมาชิกและบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
13.8 กรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้น โดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการข้างต้นแล้ว จะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดเอาไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งก็ให้ถือว่าเป็นกรรมการกลาง
ข้อ 14. คณะกรรมการของสมาคมสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 2 ปี และเมื่อคณะกรรมการ
อยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ก็ให้คณะกรรมการที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ และเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่าและคณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ
ข้อ 15. ตำแหน่งกรรมการของสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น
ข้อ 16. กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการลาออกตามวาระก็ด้วยเหตุดังต่อไปนี้ คือ
- ตาย
- ลาออก
- ขาดจากสมาชิกภาพ
- ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง
ข้อ 17. กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติให้ออก
ข้อ 18. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
- มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติโดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
- มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
- มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการ จะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง
- มีอำนาจที่จะเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสาสามัญ
- มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับ
- มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตลอดจนมีอำนาจอื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
- มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงินและทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม
- มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญตามที่สมาชิกสามัญ จำนวน 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมด ได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
- มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชิการ และสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
- จัดทำบันทึกการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิกได้รับทราบ
- มีหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับนี้ได้กำหนดไว้
ข้อ 19. คณะกรรมการจะต้องประชุมอย่างน้อย 1 ครั้ง ทุก ๆ 6 เดือน ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม
ข้อ 20. การประชุมคณะกรรมการจะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นก็ให้ถือคะแนนเสียงมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในที่ประชุมชี้ขาด
ข้อ 21. ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคราวนั้น
หมวดที่ 4 การประชุมใหญ่
ข้อ 22. การประชุมใหญ่ของสมาคม 2 ชนิดคือ
- ประชุมสามัญประจำปี
- ประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ 23. คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๆ ละ 1 ครั้ง ภายในเดือนมีนาคม ของทุก ๆ ปี
ข้อ 24. การประชุมใหญ่วิสามัญอาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นสมควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมด ร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดให้มีขึ้นให้คณะกรรมการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายใน30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ
ข้อ 25. การแจ้งการนัดประชุมใหญ่ ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบ และการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวันเวลาและสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่
ข้อ 26. การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้
- แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
- แถลงบัญชีรายรับรายจ่ายและบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
- เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เมื่อครบกำหนดวาระ
- เลือกตั้งผู้สอบบัญชี
- เรื่องอื่น ๆ ถ้ามี
ข้อ 27. ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของสมาชิกสามัญทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ก็ให้เลื่อนการประชุมคราวนั้นไป และให้จัดประชุมใหม่อีกครั้งหนึ่งภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ประชุมในครั้งแรก สำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้ ถ้าสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้ถือว่าครบเป็นองค์ประชุม
ข้อ 28. การลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นก็ให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในที่ประชุมชี้ขาด
ข้อ 29. ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่ง ให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น
หมวดที่ 5 การเงินและทรัพย์สิน
ข้อ 30. การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคม ถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคารใดธนาคารหนึ่งหรือสถาบันการเงินประเภทอื่นตามแต่คณะกรรมการจะเห็นสมควร
ข้อ 31. การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทน ลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือผู้ทำการแทน พร้อมกับประทับตราของสมาคมจึงถือว่าใช้ได้
ข้อ 32. ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท ( หนึ่งแสนบาทถ้วน ) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการและคณะกรรมการจะอนุมัติให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน 500,000 บาท ( ห้าแสนบาทถ้วน )
การอนุมัติเงินค่าใช้จ่ายพิเศษในการจัดกิจกรรมให้คณะกรรมการมีสิทธิ์อนุมัติให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน 500,000 บาท ( ห้าแสนบาทถ้วน )
ข้อ 33. ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 10,0000 บาท( หนึ่งหมื่นบาทถ้วน ) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้
ข้อ 34. เหรัญญิก จะต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายและบัญชี งบดุลให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและการรับหรือจ่ายเงินทุกครั้งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทน ร่วมกับเหรัญญิกหรือผู้ทำการแทน พร้อมประทับตราของสมาคมทุกครั้ง
ข้อ 35. ผู้สอบบัญชี จะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบตรวจบัญชีที่ได้รับอนุญาต
ข้อ 36. ผู้สอบบัญชี มีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการและสามารถจะเรียกกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้
ข้อ 37. คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้ตรวจสอบบัญชีเมื่อได้รับการร้องขอ
หมวดที่ 6 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม
ข้อ 38. ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้นและองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกสามัญทั้งหมด มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด
ข้อ 39. การเลิกสมาคมจะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญที่เข้าประชุมทั้งหมดและองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของสมาชิกสามัญทั้งหมด
ข้อ 40. เมื่อสมาคมเลิกไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตกเป็นของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อใช้ในกิจการของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (ผู้รับต้องมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อการกุศลสาธารณประโยชน์ )
หมวดที่ 7 บทเฉพาะการ
ข้อ 41. ข้อบังคับฉบับนี้ ให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป
ข้อ 42. เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญ และรักษาการในตำแหน่งกรรมการของสมาคม เพื่อรับสมัครสมาชิกและเมื่อรับสมัครสมาชิกสามัญได้จำนวนพอสมควรก็จัดให้มีการประชุมใหญ่ขึ้น เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการชุดแรกของสมาคมแต่ทั้งนี้จะต้องดำเนินการจัดประชุมใหญ่ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล